แม้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย แต่ก็ใช่ว่าจะมีชีวิตอยู่เพียงแค่ถึงวันนี้ หากแต่อาจมีชีวิตต่อไปอีก 2-3 ปี ก็เป็นไปได้ แม้ความหวังที่จะรักษามะเร็งให้หายนั้นจะริบหรี่ แต่ทุกคนก็คาดหวังให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่ ครอบครัวและคนรอบข้างจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิตนี้
การดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) คือการดูแลสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ โดยมุ่งเน้นไปที่การลดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ดูแลรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงบรรเทาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน จากการเข้ารับเคมีบำบัด นอกจากนี้ การดูแลยังครอบคลุมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนในครอบครัวให้ดีขึ้นแบบองค์รวม ทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ การดูแลแบบประคับประคองเป็นแนวทางสำคัญสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายให้มีความสุขได้เท่าที่พึงมี และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับครอบครัวได้ใช้ชีวิตต่อไปหลังผู้ป่วยได้จากไปแล้ว
หลักการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง
หลักการดูแลแบบประคับประคองต้องดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัว โดยต้องใส่ใจเป็นพิเศษกับสภาพร่างกายและจิตใจของทั้งสองฝ่าย หลักการนี้ให้พยายามดูแลผู้ป่วยจนถึงวาระสุดท้ายอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เร่งหรือยืดการเสียชีวิต และต้องไม่ลืมที่จะใส่ใจคนอื่นในครอบครัวด้วย เพราะหากใครคนใดคนหนึ่งอาการทรุดลง คนอื่นก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ในช่วงระหว่างนี้ ให้เน้นสร้างความสุขและผ่อนคลายความทุกข์ของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย คอยหาโอกาสใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะผู้ป่วยมักได้รับผลกระทบทางจิตใจ มีแนวโน้มที่จะเบื่อหน่ายที่ไม่สามารถทำอะไรได้ดั่งใจ จนเป็นที่มาของความทุกข์ เศร้าสร้อย หงุดหงิด การหากิจกรรมทำร่วมกันจะช่วยผ่อนคลายและประคับประคองอารมณ์ให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบลง เช่น การใช้ดนตรีบำบัด การนวดและสัมผัส ทำงานอดิเรก งานศิลปะ หรือการสวดมนต์ เป็นต้น
บทบาทของแต่ละคนในครอบครัว
เมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทุกคนในครอบครัว เพราะต่างคนต่างต้องแบ่งบทบาทหน้าที่กันเพื่อดูแลและบรรเทาปัญหาของผู้ป่วยให้ดีที่สุด
บทบาทของตัวผู้ป่วย เมื่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มักสูญเสียความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำ ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่ออารมณ์ซึมเศร้า ตัวผู้ป่วยจึงต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจภาวะของโรค รวมถึงให้ความร่วมมือกับผู้ดูแล หมั่นสังเกตอาการตัวเองและบอกให้ผู้ดูแลรู้โดยไม่ปิดบัง
บทบาทของสมาชิกในครอบครัวหากผู้ป่วยเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นเสาหลักในการหารายได้ คนอื่นในครอบครัวอาจต้องขึ้นมารับหน้าที่นี้แทน ซึ่งต้องแบกรับความเครียด ดังนั้น ต้องไม่ลืมที่จะทำร่างกายและจิตใจให้พร้อม เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ หรือกินอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น
บทบาทของผู้รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเป็นคนที่ต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจในการดูแลผู้ป่วย จนอาจนำไปสู่ความหดหู่ได้ ผู้ที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยต้องรับผิดชอบดูแลตนเองไปพร้อมกันด้วย อาจต้องผลัดเวรกันดูแลกับคนอื่นเพื่อหาเวลาไปผ่อนคลายจากการดูแลผู้ป่วยบ้าง
การดูแลแบบประคับประคอง โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจและความละเอียดอ่อน เพื่อให้บั้นปลายชีวิตของพวกเขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ต้องทุกข์ทรมาน ควรมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทของตน อาการของผู้ป่วย และแนวทางในการดูแลเบื้องต้น และสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกันคือการดูแลร่างกายตนเองและคนในครอบครัว เพื่อช่วยกันประคับประคองและผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน