5 โรคร้ายแรงต้องระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ

5 โรคร้ายแรงต้องระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุนั้นสั่งสมประสบการณ์และความรอบรู้มาอย่างยาวนาน นับเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าที่ยังสร้างประโยชน์ให้ครอบครัวและสังคมได้อีกมาก แต่การมีอายุมากก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมถอยลงไปตามกลไกธรรมชาติ และนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคร้ายแรงต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การใส่ใจดูแลสุขภาพจากทั้งตัวผู้สูงอายุเองและคนรอบข้างก็จะช่วยให้พวกท่านเหล่านั้นได้ใช้ชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความสุขในบั้นปลาย การรู้จักและเฝ้าระวังโรคร้ายแรงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ

มีหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงมากกว่าคนวัยอื่น ปัจจัยหลักมาจากเซลล์เสียศักยภาพในการซ่อมแซมตนเองเมื่อมีอายุมากขึ้น เซลล์จึงเสียหายและกลายเป็นที่มาของโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ ระบบภูมิคุ้มกันในตัวผู้สูงอายุก็เริ่มอ่อนแอลง ไม่สามารถป้องกันและต่อต้านโรคต่างๆ ได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนแต่ก่อน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายในผู้สูงอายุตามไปด้วย

ต่อไปนี้คือ 5 โรคร้ายที่ต้องคอยเฝ้าระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ

1. โรคหัวใจขาดเลือด

โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง มีต้นเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอาหารไขมันสูงโดยไม่ระวัง ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ออกกำลังกาย รวมถึงอาจมาจากกรรมพันธุ์หรือการกินยารักษาโรคบางชนิด ไขมันสะสมเหล่านี้จะไปอุดตันตามเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจนไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ ก่อให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการของโรคนี้ที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ เจ็บแน่นบริเวณกลางอก หายใจไม่สะดวก จุกแน่น ปวดท้อง เวียนศีรษะ เป็นต้น

2. โรคอัลไซเมอร์

ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสมอง โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ ที่ทำให้สูญเสียความทรงจำและการเรียนรู้สิ่งใหม่ จนไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ โรคนี้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากกรรมพันธุ์ โรคเรื้อรังต่างๆ ภาวะซึมเศร้า และพฤติกรรมที่ไม่ค่อยได้ฝึกพัฒนาความคิด อาการของโรคนี้จะแย่ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากหลงลืม สับสนวันเวลาหรือสถานที่ ใช้ภาษาผิดปกติ มีบุคลิกเปลี่ยนแปลงไป จนถึงขั้นรุนแรงที่สูญเสียคำพูดและการแสดงออกทางสีหน้า ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่นช่วยแม้แต่ในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าวหรืออาบน้ำ

3. โรคเบาหวาน

โรคเบาหวานกลายเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมสภาพของตับอ่อนทำให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง จึงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนอาจทำลายระบบประสาทและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อาการเริ่มแรกมักหิวบ่อย กินจุ คอแห้ง หิวน้ำ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลียง่าย สายตาพร่ามัว และแผลหายช้า

4. โรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แปรผันตามอายุ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ มีน้ำหนักเกิน หรือเครียด เป็นต้น หากมีความดันมากกว่า 140/90 มิลลิลิตรปรอท ก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง โดยทั่วไปจะไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่หากมีความดันโลหิตสูงขึ้นก็จะแสดงอาการออกมา เช่น ปวดศีรษะรุนแรง หายใจถี่ หน้ามืด หรือตาพร่า หากปล่อยไว้นานก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น

5. โรคทางกระดูก

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น มวลกระดูกก็จะสลายตัวได้ง่ายขึ้น รวมทั้งน้ำไขข้อและความยืดหยุ่นในข้อต่อต่างๆ ก็ลดน้อยลงด้วย ผู้สูงอายุจึงเสี่ยงเป็นโรคทางกระดูก ได้แก่ โรคกระดูกพรุน และโรคข้อเข่าเสื่อม โรคกระดูกพรุนนั้นมักพบในหญิงผู้สูงอายุมากกว่า โดยความหนาแน่นของกระดูกจะลดลง กระดูกบางและเปราะหักง่าย อาการมักค่อยๆ เกิดขึ้น เช่น ปวดตามบริเวณเอว หลัง ข้อมือ หรือเริ่มมีรูปร่างผิดแปลกไป เช่น หลังโก่ง ไหล่งุ้ม เป็นต้น

ส่วนโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง หากยังใช้งานข้อเข่าเช่นเดิมโดยไม่รับการรักษา ก็จะมีอาการปวดบวมที่ข้อ ข้อตึง จนถึงขั้นเจ็บปวดเรื้อรัง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

แม้ความเสี่ยงของโรคร้ายแรงจะเพิ่มขึ้นไปตามอายุ แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้หากหมั่นตรวจสุขภาพและดูแลตนเองเป็นอย่างดี รีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ นอกจากตัวผู้สูงอายุแล้ว ครอบครัวและคนรอบข้างก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อให้ท่านได้มีชีวิตยืนยาวและเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความอิ่มเอมใจ