โดยปกติแล้วคนเราใช้เวลาไปกับการนอนประมาณ 1 ใน 3 ของแต่ละวัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ร่างกายได้ใช้เวลาในการซ่อมแซม ฟื้นฟู และเสริมสร้างการทำงานของร่างกาย ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ แต่ปัจจุบันหลายคนต้องพบกับภาวะนอนไม่หลับ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่า คนไทยราว 19 ล้านคน กำลังเผชิญปัญหานอนไม่หลับ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุดังที่เราจะกล่าวถึงต่อไป
นอนไม่หลับส่งผลกระทบกับสุขภาพ
โรคนอนไม่หลับถือเป็นความผิดปกติในด้านการนอน มีการนอนที่ไม่ได้คุณภาพ มักมีอาการหลับยาก ตื่นกลางดึก หรือตื่นนอนตอนเช้าเร็วเกินไปและไม่สามารถหลับต่อได้ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ คนทั่วไปมักมีอาการนอนไม่หลับเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 คืนต่อสัปดาห์ แต่หากนอนไม่หลับติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การทำงาน และการใช้ชีวิต ซึ่งควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษา
ผลเสียของการนอนไม่หลับมีตั้งแต่รู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอน ขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ไปจนถึงมีความสามารถและทักษะที่ลดลง เช่น สมองตอบสนองช้า ตัดสินใจช้า สมาธิสั้น หากปล่อยปัญหาไว้จนลุกลามก็อาจสร้างความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือแม้แต่ภาวะสมองเสื่อมและซึมเศร้า
ฮอร์โมนไม่สมดุลเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางจิตใจ ทางสภาพแวดล้อม และทางกาย โดยเฉพาะการที่ฮอร์โมนไม่สมดุล ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยฮอร์โมนนั้นคือสารเคมีที่สร้างจากเนื้อเยื่อหรือต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างเซลล์และควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ หากฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่อยู่ในภาวะสมดุลย่อมส่งผลถึงการทำงานของร่างกาย
ฮอร์โมนเองก็มีส่วนสำคัญในการควบคุมนาฬิกาชีวิต เมื่อฮอร์โมนถูกผลิตหรือปล่อยออกมาในปริมาณที่ไม่เหมาะสมย่อมส่งผลให้นาฬิกาชีวิตรวน และส่งผลให้นอนไม่หลับได้ในที่สุด ฮอร์โมนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณภาพการนอน มีดังนี้
- เมลาโทนิน ปกติจะถูกปล่อยออกมาเมื่ออยู่ในที่มืด เพื่อส่งสัญญาณบอกร่างกายว่าถึงเวลานอนแล้ว แต่หากฮอร์โมนนี้ผลิตออกมาไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเกิดจากการที่มีอายุมากขึ้น การได้รับยาบางชนิด การนอนไม่เป็นเวลา หรืออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างมากเกินไป ก็ย่อมส่งผลให้นอนไม่หลับได้
- คอร์ติซอล ปกติจะหลั่งออกมาสูงสุดในตอนเช้าเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวและจะค่อยๆ ลดลงในระหว่างวัน ทำให้ร่างกายผ่อนคลายลง แต่หากกำลังอยู่ในภาวะเครียด ระดับคอร์ติซอลก็อาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในเวลากลางคืนทำให้หลับยากตามไปด้วย
- ฮอร์โมนเพศทั้งเทสโทสเทอโรนในผู้ชาย เอสโตรเจนและโปรเจสเทอโรนในผู้หญิง เมื่ออยู่ในระดับผิดปกติก็จะส่งต่อการนอนหลับได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยทอง อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีประจำเดือน
- โกรทฮอร์โมน ฮอร์โมนนี้มีแนวโน้มผลิตน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น จึงไม่แปลกที่จะพบปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ เช่น หลับยาก หลับไม่ลึก หรือหลับไม่ต่อเนื่อง
- ไทรอยด์ฮอร์โมน ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญและควบคุมระดับพลังงาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์จะมีระดับฮอร์โมนสูงหรือต่ำเกินไป ส่งผลให้เกิดปัญหาการนอน เช่น ตื่นบ่อยระหว่างนอน หรือหลับยาก
ปัญหาฮอร์โมนไม่สมดุลเกิดได้จากหลายสาเหตุจนส่งผลไปถึงภาวะนอนไม่หลับ ยกตัวอย่างเช่น ความเครียดซึ่งทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งออกมามาในตอนกลางคืน การมีประจำเดือนที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หรือการได้รับยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมน เป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคนอนไม่หลับ
การรักษาโรคนอนไม่หลับก็ขึ้นอยู่กับว่ามาจากสาเหตุใดที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล บางครั้งอาจต้องการแค่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตซึ่งสามารถทำได้เองง่ายๆ ในเบื้องต้น เช่น การเข้านอนให้เป็นเวลา การจัดสภาพแวดล้อมการนอนให้เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือฝึกเทคนิคการผ่อนคลายความเครียด อย่างการนั่งสมาธิหรือการฝึกโยคะ แต่หากรุนแรงกว่านั้นก็อาจต้องเข้ารับฮอร์โมนบำบัดหรือรับยารักษา
การนอนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ร่างกายเราทำงานได้อย่างปกติ ดังนั้น หากมีอาการนอนไม่หลับก็สามารถส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและอาจลุกลามจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากฮอร์โมนไม่สมดุล ซึ่งยังสามารถแก้ไขได้หากทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต แต่หากยังไม่ดีขึ้นให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการหรือตรวจเช็คระดับฮอร์โมน สำหรับวางแผนการรักษาต่อไป เพื่อสุดท้ายเราจะได้นอนหลับอย่างเป็นสุข