ดนตรีนั้นอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ เริ่มต้นจากการเคาะจังหวะด้วยวัสดุธรรมชาติง่ายๆ จากนั้นผ่านวิวัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์มานานนับพันปี จนกลายเป็นดนตรีอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ดนตรีผูกพันกับเราตลอดทั้งชีวิต และดนตรีก็มีอิทธิพลกับเรามากมาย นอกจากจะเพื่อความเพลิดเพลินบันเทิงใจแล้ว ดนตรียังมีส่วนช่วยในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การกีฬา สังคม และการแพทย์ เป็นต้น
ดนตรีเป็นสื่อกลางในการบำบัด
หากพูดถึงดนตรีในทางการแพทย์แล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าศาสตร์นี้มีมายาวนานกว่า 5,000 ปี โดยเริ่มต้นจากชาวกรีกซึ่งเป็นชนชาติแรกที่นำดนตรีมาใช้ในการบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิต ในปัจจุบันเราเรียกศาสตร์นี้ว่าดนตรีบำบัด (music therapy) ซึ่งได้รับการยอมรับในวงกว้าง ดนตรีบำบัดเป็นการบูรณาการวิทยาศาสตร์ 3 สาขา ได้แก่ การแพทย์ จิตวิทยา และศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการยกระดับสุขภาพโดยองค์รวม
นักดนตรีบำบัดจะใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงผู้เข้ารับการบำบัด โดยจะประเมินอาการเบื้องต้นก่อน เช่น โรคประจำตัว การตอบสนองทางร่างกาย ความสามารถในการสื่อสาร ประวัติการเจ็บป่วย ความชอบและทักษะดนตรี เป็นต้น จากนั้นจึงออกแบบหรือเลือกสรรดนตรีให้เหมาะกับสภาวะอารมณ์ในแต่ละบุคคลหรือแต่ละกลุ่ม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ กิจกรรมทางดนตรีอาจเป็นไปได้ทั้งการฟังเพลง การขยับร่างกายเข้าจังหวะ ร้องเพลง แต่งเพลง หรือเล่นเครื่องดนตรีร่วมกัน หลังจบการบำบัดแล้ว นักดนตรีบำบัดก็จะมาประเมินประสิทธิภาพจากอาการของผู้เข้ารับบริการอีกทีหนึ่ง
ดนตรีบำบัดช่วยฟื้นฟูกายใจ
ดนตรีบำบัดมีประโยชน์ในการฟื้นฟูทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ดนตรีบำบัดด้านกายภาพ ซึ่งเน้นให้ร่างกายตอบสนองและกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น กระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้เลือดสูบฉีดดีขึ้น ช่วยฟื้นฟูอาการของโรคความดันโลหิตสูง ไมเกรน หรือหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ส่วนอีกประเภทคือดนตรีบำบัดด้านจิตใจ ซึ่งช่วยบำบัดสภาวะทางอารมณ์ โดยดนตรีจะช่วยปรับคลื่นสมองให้มีความถี่ตามจังหวะดนตรี ช่วยให้ผ่อนคลายในระดับลึก มีสมาธิอยู่กับตัวเอง กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน มีความสุข ลดอาการวิตกกังวล และคลายความเครียดได้
ดนตรีบำบัดสามารถนำมาใช้บำบัดได้กับคนหลากหลายกลุ่ม ทั้งในเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งก็จะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เช่น เสริมพัฒนาการทางสมอง สติปัญญา การเรียนรู้ และความจำ บรรเทาโรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง อาการเจ็บปวด และช่วยเยียวยาผู้ป่วยโรคอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ดนตรีบำบัดเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่กำลังอยู่ในระหว่างการดูแลแบบประคับประคองนั้น การช่วยให้เค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ เพราะผู้ป่วยต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย และอาจต้องวิตกกังวลกับสิ่งต่างๆ ที่กำลังตามมา โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้ป่วยมะเร็งได้รับดนตรีบำบัดแล้วจะมีความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากโรคร้ายลดลง รวมถึงช่วยคลายวิตกกังวลได้ด้วยเช่นกัน
ดนตรีบำบัดสำหรับโรคซึมเศร้า
สำหรับผู้เข้ารับการบำบัดที่กำลังเผชิญความเครียดอย่างต่อเนื่องหรือกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น ดนตรีบำบัดด้วยเพลงบรรเลงที่มีทำนองและจังหวะแจ่มใสจะทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีขึ้นและรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด หากผู้เข้ารับการบำบัดได้เล่นเครื่องดนตรีก็จะเป็นโอกาสให้ได้แสดงออกทางอารมณ์ผ่านดนตรี ก็จะช่วยให้ผ่อนคลาย ทั้งยังส่งผลในด้านความมั่นใจ หรือหากได้เข้ารับดนตรีบำบัดเป็นกลุ่มก็จะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว ลดความเหงาลงได้ด้วย
ดนตรีเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายและทุกคนคุ้นเคย ไม่มีพิษมีภัยใดๆ ดนตรีบำบัดจึงเป็นศาสตร์ที่เข้ามาช่วยเสริมในการฟื้นฟูและการรักษา มีประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายในทุกเพศทุกวัย และปัจจุบันก็มีงานวิจัยรับรองถึงประสิทธิผลในการฟื้นฟูสภาวะต่างๆ หลากหลายชิ้น ศูนย์ดนตรีบำบัดพานาซีก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เห็นถึงประโยชน์ของดนตรี และมีนักดนตรีบำบัดที่เชี่ยวชาญจิตวิทยามาให้บริการ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า และผู้ที่มีภาวะอื่นๆ ได้มาใช้บริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ปรึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมศูนย์ดนตรีบำบัด โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 ได้ที่
เบอร์ 02-0791499 / 061-405-6964 / 092-256-5777 / 095-390-5405
Facebook: https://www.facebook.com/panaceehospital
Instagram: @PanaceeHospital
Line OA: @panaceemed