การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กำลังใจและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กำลังใจและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ

แม้รู้อยู่เสมอว่าคนเรามีพบก็ย่อมมีจาก แต่เมื่อถึงคราวที่ความตายคืบคลานเข้ามาใกล้คนที่เรารักจริงๆ แล้วกลับทำใจยอมรับได้ยาก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เหลือเวลาอยู่บนโลกนี้อีกไม่นาน สิ่งที่ญาติสามารถทำได้ดีที่สุด ณ จุดนั้นคือการดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดที่พึงจะได้รับก่อนถึงวาระสุดท้าย และให้เค้าจากไปอย่างสงบในท้ายที่สุด

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าสภาพการป่วยไข้อยู่ในระยะลุกลาม เรื้อรัง หรือเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ไม่สามารถรักษาให้โรคนั้นหายไปได้ ส่วนใหญ่แล้วจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้น แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงเป็นเรื่องของการให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าการรักษาโรคให้หาย

เตรียมตัวแจ้งข่าวร้ายให้ผู้ป่วยทราบ

หลังจากได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว สิ่งหนึ่งที่มักมีการถกเถียงกันในหมู่ญาติคือควรให้ผู้ป่วยรับรู้คำวินิจฉัยนี้ด้วยหรือไม่ เพราะญาติบางคนกลัวว่าเมื่อทราบแล้วอาจทำให้หมดกำลังใจจนมีอาการทรุดลงกว่าเก่า แต่อันที่จริงแล้วผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะรับทราบข้อมูลอาการป่วยของตนเอง เพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในแนวทางการรักษาและมีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจกับอาการของโรค ในทางตรงกันข้าม การปิดบังความจริงอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะในที่สุดผู้ป่วยก็สามารถคาดเดาได้อยู่ดีจากสภาพของตนเองและอาการมีพิรุธของญาติๆ

การแจ้งให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายรับทราบข้อมูลอาการป่วยของตนเอง โดยทั่วไปแล้วมักเป็นผลดีต่อการดูแลต่อเนื่องในอนาคตและมีเวลาให้ได้ปรับตัว แต่ก็ต้องมีขั้นตอนการสื่อสารให้เหมาะสมด้วย แนะนำให้ญาติใกล้ชิดหรือคนที่ผู้ป่วยไว้ใจเป็นคนแจ้งข่าวร้าย ให้เลือกจังหวะเวลาที่เหมาะกับการพูดคุย อยู่ในสถานที่เงียบสงบเป็นส่วนตัว ใช้น้ำเสียงที่จริงใจและเป็นมิตร บอกความจริงเกี่ยวกับอาการของโรคพร้อมทั้งให้กำลังใจ แนะนำทางเลือกในการรักษา และให้ความมั่นใจว่าญาติๆ จะคอยอยู่เคียงข้าง ให้คำปรึกษา และช่วยเลือกแผนการรักษาที่ดีที่สุดให้

วางแผนการดูแลล่วงหน้า

สิ่งสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือการวางแผนล่วงหน้า เพราะบ่อยครั้งที่ญาติเห็นไม่ตรงกันในแนวทางการรักษา บางคนเลือกที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยไว้ ทำให้ต้องเจ็บปวดและทรมานจากเครื่องมือกู้ชีพโดยไม่จำเป็น สร้างความทุกข์กับทั้งญาติและผู้ป่วย ดังนั้น ควรต้องปรึกษาหารือกันตั้งแต่เนิ่นๆ ระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมผู้ดูแล เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วยมากที่สุด คำถามสำคัญที่ต้องหาข้อสรุป เช่น ต้องการพักที่บ้านหรือโรงพยาบาล ต้องการให้ใช้เครื่องมือแพทย์ยื้อชีวิตหรือไม่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือจะมอบให้ใครเป็นคนตัดสินใจแทน ทั้งนี้ควรตกลงกันในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน

นอกจากนี้ ในระหว่างการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยและญาติควรปรึกษาถึงภารกิจต่างๆ ที่จะตามมาหลังจากผู้ป่วยจากไป เช่น รูปแบบการจัดพิธีศพ พินัยกรรม สถานที่สุดท้ายที่ต้องการอยู่ก่อนจากไป เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างญาติหลังจากที่ผู้ป่วยไม่อยู่แล้ว

คอยอยู่เคียงข้างผู้ป่วย

สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการในระหว่างการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือการมีคนที่เข้าใจอยู่เคียงข้าง และสิ่งที่กลัวที่สุดคือการอยู่อย่างโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง ญาติควรให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึก โดยทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี และอาจช่วยปฏิบัติตามความต้องการในช่วงสุดท้ายของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยคลายกังวลและทำให้สบายใจขึ้น

ทำความเข้าใจอาการช่วงสุดท้าย

ในระหว่างการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ญาติต้องเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยและรู้แนวทางในการดูแลเพื่อไม่ให้ร่างกายผู้ป่วยแบกรับภาระเกินไป โดยในช่วง 1-3 เดือนสุดท้ายผู้ป่วยจะมีอาการทรุดลง อวัยวะเสื่อมสภาพ หลังจากนั้นในช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้าย สภาพร่างกายจะเปลี่ยนแปลง หายใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหย่อนยานควบคุมไม่ได้ การรับรู้แย่ลง มีอาการเพ้อ กินและดื่มน้ำน้อยลง ง่วง ซึม ในช่วงนี้ญาติควรปล่อยให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่ต้องปลุกให้ตื่นหรือฝืนป้อนอาหาร ลดการรบกวนต่างๆ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยต้องทรมาน

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็ง แม้ญาติๆ จะพร้อมอยู่เคียงข้างแต่อาจมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่ ศูนย์ดูแลแบบประคับประคองและมะเร็งบูรณาการพานาซี พระราม2 ยินดีที่จะให้บริการดุจดั่งญาติคนหนึ่งในครอบครัว ที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือครบครัน เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิต